วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เทน้า

เทน้าแต่งสวย
รถของผม

รถโนวา

รถแข่ง

นี่...พูดกันตรงๆ นะ การ "ลดภาษีรถคันแรก" ให้คนซื้อนั่นน่ะ เป็น  "นโยบายเสือก" จากรัฐบาลสู่ชาวบ้านแท้ๆ ไม่มีใครเขาเรียกร้องให้ทำเลย และทำแล้ว คนซื้อรถก็จะหัวเราะกันว่า "เสือกคืนทำไมวะ" ใช่ว่ากูอยากได้ แถมไร้ประโยชน์กับสังคมส่วนรวม ตรงกันข้าม นอกจากระบบภาษีรัฐยุ่งยากแล้ว ผลเสียยังมีเป็นวงกว้าง แทนที่เงิน ๓ หมื่นกว่าล้าน จะได้นำไปสร้างประโยชน์กับสังคม กลับต้องหมดไปเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้  "แก้บน" ตามสัญญาหาเสียง
 เวร...เวรจริงๆ!
 อันที่จริงก็ไม่คิดจะเสือกกับเขาหรอก แต่นายอะไรล่ะ รัฐมนตรีช่วยคลังที่ทำเรื่องซื้อรถคันแรกจ่ายภาษีคืน ๑ แสนน่ะ เห็นยึกยัก ชักเข้า-ชักออก ไม่รู้จะลงตัวแบบไหนซักที ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานแล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังไม่จบ ได้ตรงนี้ ขาดตรงนั้น วุ่นทั้งสรรพากร ยันสรรพสามิต
 ก็เป็นบทสะท้อนสัจธรรมอย่างหนึ่ง นโยบายหาเสียงนั้น พูดง่าย-หลอกง่าย แต่นำมาใช้จริงๆ ในขั้นตอนปฏิบัติมันยาก
 ตอนนี้ลามไปถึงระบบไฟแนนซ์ ระบบรถผ่อน รถมือสอง และบริษัทรถ ที่ผลิตจากนอก แต่เอามาขายข้างใน ไม่ได้อานิสงส์ตามเงื่อนไขคืนเงินกับเขาด้วย  ก็โวยวายไปกันถึงขั้น "กีดกันทางการค้า"
 สงสัยเรื่องนี้คงต้องไปถึงฮุน เซน หรือสหประชาชาตินั่นกระมัง?
 เอาเวลาและหน้าที่ไปทำอะไรที่มันเกิดประโยชน์กับสังคมส่วนรวมเถอะ  บอกชาวบ้านไปตรงๆ ว่า พิจารณารอบด้านแล้ว นโยบายนี้ผลได้ไม่คุ้มผลเสีย...ขอยกเลิก ถูกด่านิดหน่อย แต่คนสรรเสริญจะมาก
 แต่ถ้าไม่เลิก เดี๋ยวมันก็เหมือน "อีลิตการ์ด" สมัยทักษิณนั่นหรอก ทิ้งเป็น  "ผีไม่มีญาติ" ฉิบหายเรื้อรังค้างคาเงินภาษีรัฐที่เก็บมาจากชาวบ้านจนถึงวันนี้  และก็ไม่มีใครกล้าตัดสินใจให้จบ
 เหมือนสมัยรัฐบาลพลเอกชายชาย ทิ้งอนุสรณ์อัปยศ เสาหิน "โฮปเวลล์"  ไว้จนถึงวันนี้ สมัยรัฐบาลทักษิณก็ทิ้งอนุสรณ์อัปยศ "อีลิตการ์ด" ไว้จนถึงวันนี้
 แล้วสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นี่ จะสร้างอนุสรณ์อัปยศ "รถคันแรก" ไว้แข่งกะพี่ชายอีกหรือไง?
 พูดกันตรงๆ การมีรถซักคันนั้น มันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไป แต่ลึกลงไปในความต้องการที่เป็นโจทย์ฝ่ายรัฐบาลต้องตีให้แตก นั่นคือ ประชาชนต้องการความสะดวกในการไปไหน-มาไหน ที่เรียกว่าการคมนาคมขั้นพื้นฐาน
 นั่น...รัฐบาลก็ไปแก้-ไปทำตรงนั้น ไปใช่เอาชาวบ้านเป็นเหยื่อไปป้อนบริษัทผลิตรถยนต์ ด้วยการส่งเสริมให้ทุกคนมีทั้งที่ไม่พร้อมคนละคัน...คนละคัน
 พวกการเมืองที่ดีแต่ "คิดเอา-สั่งเอา" น่ะสบาย แต่ข้าราชการซี เขาปวดหัว มันทำเสียระบบ สร้างปัญหายุ่งยากเป็นลูกโซ่พันกันไปหมด และสุดท้าย รัฐก็ไม่ได้ เสียภาษีไปปีละ ๓-๔ หมื่นล้าน ชาวบ้านก็ไม่ได้ แถมทำให้รถราล้นถนนหนักขึ้นไปอีก
 มีแต่บริษัทรถยนต์ และการเมืองฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่ได้!
 สุดท้ายก็ไปรกศาล ทุกวันนี้ธุรกิจเงินผ่อน ระบบเช่าซื้อทั้งหลาย เหมือนใช้ระบบศาลเป็นลูกมือ ลูกค้าเบี้ยวก็ฟ้องศาล...ฟ้องศาล...มันมากมายก่ายกองจนศาลทำแต่เรื่องนี้ แทบไม่มีเวลาไปทำคดีอื่น
 ถ้าระบบคลังพร้อมเสียรายได้ ๓๐,๐๐๐ กว่าล้าน เอางี้ดีกว่าครับ แทนที่จะละลายหายไปกับการคืนเงินภาษีซื้อรถคันแรก ด้วยหลักการที่รัฐบาลบอกคือ ต้องการให้คนมีรถใช้ ก็เปลี่ยนจากพาหนะรถ
 เป็นพาหนะ วัว-ควาย ดีมั้ย?
 เอา ๓๐,๐๐๐ ล้านนั้น ไปตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์วัว-ควาย โดยขั้นแรก ใช้เป็นทุนส่งเสริมนักเรียน-นักศึกษาไทย ด้านงานวิจัย-ค้นคว้า และพัฒนาสายพันธุ์วัว-ควาย ที่ไหนในโลกว่าดี ส่งไปเรียน-ไปศึกษามา อีกส่วนก็ทดลอง-วิจัย-ค้นคว้า ควบคู่กันไปในภาคสนามในประเทศนี่
 เรียกว่าทุ่มเท เอาให้มันจริงจังสัมฤทธิผลไปเลย อย่างที่เขาว่า "รู้อะไรให้กระจ่างสักอย่างเดียว ขอให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล" นั่นแหละ!
 ทำอย่างไร...ถึงจะสร้างทัศนะสำนึกให้คนที่ใช้รถกระจุกอยู่แต่ถนนในเมือง  คิดกระจายออกไปใช้วัว-ใช้ควายแทนรถตามทุ่งท่านาป่าเขากันบ้าง?
 สร้างโมเดล "สังคมคืนถิ่น" ชีวิตต่อจากนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมากระจุกตัวแย่งกันอยู่-แย่งกันกินแต่ในกรุงเทพฯ เพราะโอกาสแห่งชีวิตใหม่ กระจายออกไปทั่วไทย-ทั่วประเทศแล้ว
 หันหลังกลับไป "คว้าโอกาส" นั้น ให้ชีวิตใหม่ตัวเองกันเสียแต่เนิ่นๆ เถิด  ขืนช้า...จะตกร่องกลางระหว่างกรุงกับโอกาสใหม่ที่กระจายออกจากกรุง...บอกไม่เชื่อ!?
 อย่างนี้ น่าจะเป็นโจทย์ให้นักการเมืองคิดตอบโจทย์สำหรับอนาคตข้างหน้ามากกว่า เชื่อเถอะ...อีกไม่นานหรอก ในความเป็นโลกกลมที่หมุนรอบตัว  อะไรที่เรียกว่าเจริญตามวัตถุ มันถึงจุดสูงสุดของมันแล้ว ก็จะค่อยๆ หมุนกลับสู่อะไรที่เรียกว่าเจริญตามธรรมชาติ
 ถ้าใช้คำว่าวิสัยทัศน์ อย่างนี้น่าจะเป็นวิสัยทัศน์รองรับสังคมโลกที่จะเป็น-ที่จะอยู่ในทศวรรษใหม่ ย้ำ...ทศวรรษใหม่ ไม่ใช่ศตวรรษใหม่ โปรดเข้าใจ!
 ท่านลองหลับตา แล้วค่อยๆ ตรอง คืนภาษีคนซื้อรถคันแรก ๓๐,๐๐๐ ล้าน  คนได้มีซักกี่พัน-กี่หมื่นคน แล้วคนเหล่านั้น การได้คืน-กับไม่ได้คืน สร้างความเปลี่ยนแปลงทางฐานะความเป็นอยู่เขามั้ย?
 ก็เปล่าเลย!
 แล้วนโยบายนี้ ประเทศชาติใน "ประโยชน์รวม" เสียไป ๓ หมื่นล้าน ได้อะไรงอกเงยกลับมาบ้าง?
 ไม่มีเลย!
 ฉะนั้น เอาให้มันมีประโยชน์ดีกว่า เอา ๓ หมื่นล้านทุ่มไปกับงานค้นคว้า-งานวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์วัว-ควายไทยนี่แหละ ตอนนี้ "โรงเรียนควาย-โรงเรียนทำนา" เราก็มีแล้ว ระบบการเรียน-การสอน ที่มุ่งเน้นให้คนนำไปปฏิบัติใช้-ปฏิบัติอยู่ตามสังคมถิ่นก็มีแล้ว
 เราจะเห็นบางพื้นที่ สอนนักเรียนทำนา สอนไถหว่าน สอนเก็บ-เกี่ยวข้าว  สอนไถนาด้วยวัว-ควาย สอนใช้วัว-ควายในระบบขนส่งพืชไร่นาสวน
 นี่แหละ เอางบ ๓๐,๐๐๐ ล้านนี้ไปต่อยอด เป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุ์วัว-ควายให้เป็นทั้งพาหนะ เป็นทั้งเครื่องมือทำไร่-ทำนา-ทำสวน ที่ต่อไปมนุษย์จะต้องมาอยู่-มาใช้กับสิ่งเหล่านี้ ถ้าต้องการมีชีวิตอยู่เป็นสุข และครบปี  ไม่ต้องประกวดหรอกนางสาวไทย
 จัดเวทีประกวด "วัว-ควายไทย" สวย เอาให้มันระเบิด-ระเบ้อโลกไปเลย!
 มีรถยนต์มาก ก็สร้างมลพิษภาวะด้านทำลายมาก แต่ถ้ามีวัว-ควายมาก  จะขจัดมลพิษภาวะแล้วสร้างสุขภาวะให้มนุษย์มาก เพราะวัว-ควายขี้ให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ ตรงข้ามกับรถยนต์ที่ขี่ให้เป็นควันพิษในอากาศมาก!
 ผมยังเคยบอกไปครั้ง เมื่อตอน "นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" มารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาฯ ใหม่ๆ ได้ยินท่านบอกว่า จะรื้อระบบการเรียน-การสอนใหม่ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละภูมิภาค คือเรียนแล้วไม่ใช่รู้แค่หนังสือ แต่ให้รู้ถึงวิธีทำมาหากินตามวิถีถิ่นด้วย
 เช่น โรงเรียนภาคอีสาน ก็เรียนการทำนา ภาคเหนือ เรียนการทำไร่-ทำสวน อยู่ใต้เรียนการทำยาง อยู่ชายทะเลเรียนการทำประมง อย่างนี้เป็นต้น
 แต่ไม่ทราบว่า ท่านได้ทำตามที่พูดหรือเปล่า คงไปติดหล่ม เงินครู-เงินกู้-เงินแป๊ะเจี๊ยะ-เก๋าเจี๊ยะ ถูกดูดเข้าหลุมดำในกระทรวงศึกษาฯ ฆ่าเด็กไทยไปเสียแล้วก็ไม่รู้?
 พูดถึงระบบศึกษา ได้ยินเขาพูดกันจนชินว่า "ระบบการเรียน-การสอนไทย สอนให้เด็กจบไปเป็นวัว-เป็นควาย" ถ้าเป็นจริงตามนั้น...มันก็เยี่ยม เพราะวัว-ควายมีคุณประโยชน์ทั้งตัว รวมถึงหนัง-เขา แต่คงไม่ได้หมายถึงด้านนั้น  เจตนาน่าจะหมายถึง
 ระบบเรียน-ระบบสอน เรียนแล้วเด็กไม่ได้พัฒนาสติปัญญาที่เรียกว่าสมองในการใช้ชีวิตสอดคล้องกับโลกและสังคมเลย!
 ประเทศไทยเรานี่พร้อมทุกอย่าง พร้อมจนมากไปด้วยซ้ำ ถึงขนาดพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ แต่งเป็นเพลงว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรานี้แสนอุดมสมบูรณ์"
 คนไทยเป็นลูกเศรษฐีทรัพยากรแผ่นดินกัน จนไม่รู้จักดิ้นรน-ค้นคว้า เพื่อไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งสิ่งอันหาได้ยาก เพราะมันมีอยู่แล้วจนกลายเป็นของไม่มีค่า-ไม่มีราคา เช่น ทรัพยากรอากาศ ไม่ร้อนเกิน ไม่หนาวเกิน ไม่มีฝน-พายุมากเกิน  เหมาะแก่การเกษตรกรรม-กสิกรรม และอยู่อาศัย
 เราก็ไม่สนใจกัน เกิดมา ลืมตาก็เห็น และอยู่กับมันโดยไม่ต้องดิ้นรนจนชิน ไม่เห็นค่า ไม่เห็นราคา ที่จะใช้ "จุดเด่น" ทางทรัพยากรอากาศที่หลายๆ  ชาติ หลายๆ ประเทศไม่มีอย่างเรานั้นสร้างประโยชน์เป็นผลผลิตก้าวหน้า ให้ได้ชื่อว่า "เป็นเจ้า-เป็นแหล่ง" ทั้งวิทยาการและความชำนิ-ชำนาญเลย?
 "เด่น-ขึ้นชื่อ" อย่างเดียว คือ
 โกงบ้าน-กินเมือง!?
 มองจุดแข็งบนความเป็นธรรมชาติของไทย เราอาจคิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องกลับไปอยู่กันแบบจุดไต้-จุดคบ ไปไหนก็ต้องขี่วัว-ขี่ควาย-พายเรือ กินเผือก-กินมัน แทนกินโออิชิ เคเอฟซี คริสปี้ครีม ชายหยักรั้ง หญิงโจงกระเบน แทนสวมยูนิโคล่ อย่างนั้นหรือ?
 ไม่ต้องเถรตรงขนาดนั้น อย่าเป็นคนอย่างสากกะเบือ ควรเป็นคนอย่างทัพพี-กระจ่า รู้จักงอปลายใช้ตัก-ใช้เกี่ยวด้วยศิลปะสร้างสรรค์สังคม  ชีวิตได้ "เกษตร" กับ "อุตสาหกรรม" ต้องอยู่ด้วยกันได้ เก่ากับใหม่ต้องไปด้วยกันในเชิงสร้างเสริมได้ ไม่ใช่ให้สิ่งหนึ่งไปทำลายสิ่งหนึ่ง รถยนต์ก็มีจอดหน้าบ้านได้ แต่ใต้ถุน วัว-ควาย ก็มีอยู่ได้ด้วยเหมือนกัน.

รถแข่ง